วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พันธกิจของภาษา

พันธกิจของภาษา

พันธกิจ หมายถึง หน้าที่    

(คำที่เกี่ยวข้องคือ พันธ ,พันธ์,พันธะ หมายถึง ผูก,มัด,ข้อผูกมัด,ข้อผูกพัน   และ กิจ หมายถึง งานธุระ )


พันธกิจของภาษา คือ หน้าที่ของภาษา นั่นเอง


มาดูกันว่า พันธกิจของภาษามีอะไรบ้าง

๑. ภาษาช่วยธำรงสังคม สิ่งที่ใช้แสดงกฎเกณฑ์ทางสังคม ก็คือ ภาษาสังคมจะธำรงอยู่ได้ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ มนุษย์มีไมตรีต่อกัน เช่นการทักทายปราศรัย มนุษย์ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และมนุษย์ประพฤตตนให้เหมาะแก่ฐานะของตน เช่น การใช้ภาษาตามฐานะในสังคมและใช้ให้เหมาะสมกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือบทกวีที่ช่วยธำรงสังคม เช่น “อันจระเข้เต่าปลาพึ่งวาริน สกุณบินร่อนเร่พึ่งเวหา ทารกเล็กเด็กน้อยพึ่งมารดา คนเข็ญใจไพร่ฟ้าพึ่งบารมี” 

๒. ภาษาแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคล หมายถึง ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล รวมถึงอุปนิสัย อารมณ์ รสนิยม สติปัญญา ความคิด ทรรศนะ ภาษาของแต่ละคนที่แสดงออกจะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคล เช่น “ฉันเหนื่อยเหลือเกิน ฉันไม่เดินต่อไปอีกแล้ว” (คนพูดยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง), “เหนื่อยได้ยินไหม เหนื่อยจะตายอยู่แล้วยังจะให้เดินอีก”(คนพูดชอบตำหนิผู้อื่น), “เหนื่อยจังเลย หยุดพักก่อนเถอะ”(คนพูดชอบชักชวนหรือเสนอแนะ) 

๓. ภาษาช่วยให้มนุษย์พัฒนา มนุษย์แต่ละคนย่อมมีประสบการณ์และความคิดเห็นต่างกัน เมื่อมีการเผยแพร่และถ่ายทอดกันต่อๆไปโดยอาศัยภาษา ทำให้มีผู้รู้มากขึ้นและความรู้ก็เผยแพร่ขยายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆสังคมมนุษย์จึงพัฒนาต่อเนื่องมาตลอด เช่นภาษาพัฒนาความคิดและถ่ายทอดความคิดมนุษย์ ตัวอย่าง “หญิงไม่อยากมีสามี หาในโลกนี้หาไหน อันพวงบุปผามาลัย เกลียดแมลงภู่ไซร้ฤๅมี ควรจำธรรมดานาไร่ จักไม่รับไถใช่ที่ ฉันใดชาดานารี พึงมีสามีแนบตัว”

๔. ภาษาช่วยกำหนดอนาคต มนุษย์ใช้ภาเพื่อดำเนินมาตรการหรือเตรียมรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นภาษาเพื่อกำหนดอนาคตให้ได้ดังประสงค์นั้น ผู้ใช้ต้องมีความสามารถในการใช้ภาษา อาจใช้ในรูปแบบของการวางแผน การทำสัญญา การพิพากษา การดำเนินมาตรการ การพยากรณ์ เช่น “เย็นนี้คุณพ่อซื้อเค้กหน้าปากซอยมาให้ด้วยนะ” “พรุ่งนี้ต้องซ่อมรถให้เสร็จนะ” “ ...พลาง ธ ให้ตรวจเตรียมพล โดยสถลพยุหบาตร บอกพระราชกำหนด กฎแก่ขุนทัพขุนพล จักยกพหลยาตรา ในเวลาค่ำ... เป็นต้น 

๕. ภาษาช่วยจรรโลงใจ จรรโลงใจ หมายถึง ค้ำจุนจิตใจไว้ให้มั่นคง ใช้ได้กับทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม การจรรโลงใจจึงหมายถึงการค้ำจุนจิตใจให้เบิกบานมั่นคง ไม่ตกไปข้างอำนาจฝ่ายต่ำ เช่น การร้องเพลง การพูดให้ขบขัน หรือต้องการจรรโลงใจจากนิทาน บทกวี สุนทรพจน์ สุภาษิต คำขวัญ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องการการร้อยเรียงทางภาษาทั้งสิ้น นักภาษาศาสตร์มีความเชื่อว่าภาษากำเนิดจากมนุษย์นั่นเอง ภาษามีความสำคัญต่อมนุษย์ ภาษานอกจากมีความสำคัญต่อมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็อาจตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาษาด้วย เพราะว่ามนุษย์มิได้คำนึงว่า ภาษาเป็นเพียงสัญลักษณ์ มนุษย์เชื่อว่ามีคำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา มนุษย์มักชื่นชมหรือรังเกียจสิ่งใดก็ตามที่มีความหมายหรือมีเสียงของคำคล้ายคลึงกับสิ่งที่ตนนิยมหรือรังเกียจ เช่น “มาลัยเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องร้อยด้วยดอกรักและดอกบานไม่รู้โรย” “ฉันตั้งชื่อลูกว่า “จงพิพัฒน์” เพื่อเขาจะได้เจริญก้าวหน้าในชีวิต” “ถึงบ้านงิ้วหวิวจิตให้คิดขาม เห็นแต่หนามเข้าประเดี๋ยวยังเสียวอก” , “ถึงบางระกำโอ้กรรมระยำใจ เคราะห์กระไรถึงมาร้ายไม่วายเลย”




ข้อมูลอ้างอิง


https://sites.google.com/site/khwamruphasathai/home/phanth-kic-khxng-phasa

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น