วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ดูละคร สะท้อนความรู้ ตอน เพชรกลางไฟ

ดูละคร "เพชรกลางไฟ" 
ได้อะไรบ้าง ???



สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านแต่หัวข้อ ท่านผู้อ่านผ่านๆ และท่านผู้ที่ตั้งใจอ่านอย่างละเอียด ทุกท่าน
เมื่อคืน (25 มกราคม 60) ได้ชมละครเรื่องเพชรกลางไฟ แล้วเกิดความสนใจปนสงสัยว่า ชื่อของนางเอก "ท่านหญิงหลง" (ท่านหญิง เป็นคำลำลองเรียกเชื้อพระวงศ์ ชั้นหม่อมเจ้า) คือ "อุรวศี" แปลว่าอะไร มาจากภาษาใด จึงพิมพ์เข้าไปดูใน "กูรู" เกิล พบว่า เป็นชื่อของนางฟ้าหรือที่เรียกว่านางอัปสร ในวรรณคดีสันสกฤต ไม่เพียงแต่ชื่อของนางเอกที่แปลว่านางฟ้าเท่านั้น แต่ชื่อของพี่สาวอีก 5 คน ก็ล้วนแปลว่านางฟ้าทั้งสิ้น
นางฟ้าในวรรณคดีสันสกฤตมีอยู่มากนับสิบล้านตน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ นางฟ้าที่อยู่ในสวรรค์ (ไทวิกะ) กับนางฟ้าที่อยู่ในโลกมนุษย์ (เลาวิกะ)
และชื่อตัวละครที่แสดงเป็นลูกสาว ของเสด็จในกรม ถูกใช้ชื่อของนางฟ้ามาเป็นชื่อของตัวละครเกือบทั้งหมด และจัดว่าเป็นนางฟ้าตัวท็อป (ชั้นแนวหน้าของวรรณคดีสันสกฤตกันเลยทีเดียว) ดังนี้
1. อุรวศี (Uravasri)
นางเอกของเราเป็นคนเดียวที่ตั้งชื่อจากนางฟ้า ประเภทไทวิกะ มีความโดดเด่น คือ ความงามเป็นเลิศ เลิศแบบนางอัปสรตัวท็อปอื่นๆที่มารวมตัวกันยังสู้อุรวศีไม่ได้
นอกจากนี้ในมหาภารตะ ยังได้กล่าวถึงอุรวศีว่า ได้สาปอรชุนให้ช่วงหนึ่งหมดสมรรถภาพทางเพศเป็นเหมือนกะเทย เนื่องจากครั้งนึงที่อรชุนไปเฝ้าพระอินทร์บนสวรรค์ นางได้พบและหลงรักอยากได้เป็นคู่ครอง แต่ยั่วยวนเท่าใดอรชุนก็ไม่สนใจและยังกล่าวว่านาง ว่านางนั้นมีศักดิ์เป็นบรรพบุรุษตน (เป็นชายาปุรุรวัส เป็นพระชนนีของราชาอายุ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษเขา) ซึ่งเมื่ออรชุนถูกสาปก็รับทูลขอให้พระอินทร์ช่วยเหลือ แต่พระอินทร์เห็นว่าเป็นการดีต่ออรชุนที่สามารถปลอมตัวเป็นหญิง สอนนาฎศิลป์และการดนตรี เป็นการหลบซ่อนตัวให้ไม่มีใครจำได้พ้นจากการพบเห็นของฝ่ายศัตรูได้
2. อลัมพุษา(Alambusha)
นางอัปสรพวกเลาวิกะ ครั้นหนึ่งมีฤษีทธีจ บำเพ็ญตบะอย่างยิ่งยวด ณ ริมแม่น้ำสรัสวดี ทำให้พระอินทร์เกรงว่าฤษีจะมาแย่งตำแหน่งตน จึงให้นางอลัมพุษาไปทำลายตบะ ซึ่งเมื่อพระฤษีเห็นความงามของนางขณะที่ท่านกำลังลงอาบน้ำในแม่น้ำ ก็ทำให้ท่านหลั่งน้ำกามออกมาในทันทีจนทำให้แม่น้ำตั้งครรภ์ กำเนิดบุตรแก่ฤษีนามว่า สารัสวต และนางก็ได้เอาทารกผู้นี้ไปเลี้ยงจนเติบใหญ่
3. ติโลตตมา (Tilottama)
เป็นนางฟ้าชั้นเลาวิกะพระวิศวกรรมเสกให้นางอัปสรติโลตตมาเกิดขึ้นมา โดยการรวบรวมเอาสิ่งของสวยงามจากทั้งสามโลกมาหลอมรวมกันอย่างบรรจง ประดับกายนางด้วยอัญมณีมากมาย ซึ่ง “ติล” หมายถึง เมล็ดงาหรืออนุภาคขนาดเล็ก “อุตฺตม” หมายถึงเป็นเลิศหรือยิ่งใหญ่
นอกจากนั้นในมหาภารตะยังกล่าวเสริมถึงความงามของนางติโลตตมาไว้ว่า ความงามเลิศอันหาที่เปรียบมิได้ ทำให้พระอินทร์ผู้มีพันเนตร ทรงใช้เนตรทั้งพันจ้องมองความงามนางอย่างไม่ละสายตาด้วย
4. อทริกา (Adrika)
เป็นนางอัปสรชั้นเลาวิกะที่ถูกพระพรหมสาปให้เป็นปลาอยู่ในแม่น้ำยมุนา วันหนึ่งราชาแห่งแคว้นเจทิ ทรงกำหนัดหลั่งน้ำกามออกมา จึงได้ฝากได้ฝากให้เหยี่ยวคาบเอาไปให้พระมเหสีของตน แต่ปรากฏว่ามีเหยี่ยวเจ้าถิ่นบินโผเข้ามาต่อสู้ น้ำพันธุ์จึงตกลงไปที่แม่น้ำและเข้าปากของปลาซึ่งเป็นร่างที่ถูกสาปของนางอทริกาพอดี ต่อมาปลาตัวนั้นจึงตั้งท้อง ชาวประมงจับได้นำมาผ่าทองปรากฎเป็นทารกเพศชาย ให้นามว่ามัตสยะ ส่วนทารกเพศหญิงให้ชื่อว่ามัตสยะคันธาหรือสัตยาวดี หลังจากนั้นอทริกาจึงพ้นคำสาป กลายร่างกลับไปเป็นนางอัปสร
5. อรุณวาสี
เป็นนางอัปสรชั้นเลาวิกะ ซึ่งฤาษีภรต ซึ่งเป็นผู้จัดการร่ายรำบนสวรรค์ มีศิษย์เอกนามว่า นางอรุณวาสี ครั้นหนึ่งพระอินทร์ต้องการหาคนไปทำลายตบะฤาษีวิศวามิตรเป็นครั้งที่สองแต่ไม่รู้จะเลือกใครเลยเชิญพระวิกรมาทิตย์มาเป็นกรรมการตัดสิน นางอัปสรที่เป็นผู้เข้ารอบตัดเชือกสองคนสุดท้ายคือ นางอรุณวาสี กับนางรัมภา ซึ่งเมื่อนางอรุณวาสีร่ายรำ วิกรมาทิตย์ก็มองไม่วางตา แต่พอรัมภาร่ายรำ วิกรมาทิตย์ก็ตบมือชื่นชมออกนอกหน้าจนรัมภาชนะไป
6. เมรา
เป็นนางอัปสรชั้นเลาวิกะ ซึ่งฤาษีชื่อกัมพุ บำเพ็ญพรตจนพระศิวะประทานนางอัปสร ชื่อนางเมรา มาให้เป็นภรรยา ฤาษีกัมพุและนางเมราอยู่กินกันจนเกิดลูกหลานมากมาย เป็นปฐมวงศ์ของชาวเขมรต่อมากลายเป็นชื่อประเทศ "กัมพูชา" ออกเสียงแบบเขมรว่า กัมปูเจีย แปลว่า ผู้เกิดจากฤาษีกัมพุ
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อตัวละครอื่นๆ ที่มามีที่มาจากเทวดาบนสวรรค์ และยังเกี่ยวโยงกับตัวละครในวรรณคดีสันสกฤต อีกด้วย คือ
ลูกหม่อมต่วน ท่านชายอรชุน >> อรชุน เป็นชื่อตัวละครเอกในมหาภารตะ เป็นบุตรที่เกิดจากพระอินทร์ประทานให้
ลูกชายหม่อมสลวย พี่ชายอุรวศี ท่านชายวิสสุกรรม >> พระวิสสุกรรม เป็นพระผู้สร้าง เทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์
อนล แปลว่า ไฟ
อนึก แปลว่า กองทัพ (ในเรื่องเป็นทหาร)
อธิป แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ (ในเรื่องเป็นหม่อมเจ้า มีเงิน อำนาจมาก)
ถึงแม้จะไม่ใช่ตัวละครที่มาจากสวรรค์ หรือวรรณคดีสันสกฤต แต่ก็ตั้งชื่อได้ตรงกับบุคลิกภาพของตัวละครมากเลยทีเดียว
เมื่อยิ่งได้ชมละคร และจินตนาการตามก็ยิ่งทำให้มีความสุข ยิ่งน่าติดตามมากขึ้นเมื่อนักแสดงสามารถถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกของตัวละครนั้นส่งผ่านมายังผู้ชมหน้าจอ ได้อย่างน่าสนใจ ตามเจตนาของ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล) ประกอบกับเกร็ดความรู้ต่างๆทั้งจากวรรณคดีไทย และวรรณคดีสันสกฤต ที่ คุณหญิง ได้สอดแทรกเอาไว้ แบบที่เรียกว่า "สิ่งละอันพันละน้อย" ไม่ทำให้ผู้ชมเครียดเกินไป และในขณะเดียวกันก็ไม่เบาสมองจนเกินงาม จึงทำให้ ละครเรื่อง "เพชรกลางไฟ" กลายเป็นละครน้ำดี ที่กลับมามีชีวิตโลดแล่นบนจอแก้วอีกครั้ง

ขอขอบคุณที่มาของความรู้
จากหนังสือ ไตรตรึงษ์ รวมบทความเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีสันสกฤต