วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กาพย์เห่เรือ "เจ้าฟ้ากุ้ง" จากเห่เรือเล่น มาเป็น เห่เรือหลวง

กาพย์แห่เรือ "เจ้าฟ้ากุ้ง" 
จากเห่เรือเล่น มาเป็น เห่เรือหลวง

สรุปเนื้อหาเพื่อเตรียมสอบ ดังนี้

1. กวีผู้ทรงพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือฉบับที่นำมาให้นักเรียนศึกษานี้คือใคร 
     เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง    
 2. วรรณคดีเรื่อง กาพย์เห่เรือ เป็นวรรณคดีในสมัยใด
     สมัยอยุธยาตอนปลาย  ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ    
 3. พระอิสริยยศสูงสุดของกวีผู้ทรงพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือฉบับนี้ คือพระอิสริยยศใด
     เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ พระมหาอุปราชเสวยบวรราชสมบัติ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  
 4. กวีผู้ทรงพระนิพนธ์เรื่องกาพย์เห่เรือนี้ ทรงบูรณะซ่อมสร้างวิหารของวัดใด
     วัดมงคลบพิตร ซึ่งถูกฟ้าผ่าตรงยอดมณฑป  
 5. วรรณคดีเรื่องกาพย์เห่เรือนี้ กวีทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด และแต่งขึ้นเพื่อใช้ในการเดินทางไปที่ใด
     เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือนี้ขึ้น เพื่อใช้เห่เรือเล่นในคราวที่พระองค์ตามเสด็จพระราชบิดา(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ทางชลมารคไปนมัสการพระพุทธบาท ที่จังหวัดสระบุรี 
6. วรรณคดีเรื่องกาพย์เห่เรือนี้ ได้เป็นต้นแบบให้กวีรุ่นหลังแต่งกาพย์เห่อีกหลายสำนวน ได้แก่กาพย์เห่เรื่องอะไรบ้าง
     กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2  บทเห่พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 และกาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 6 
7. เนื้อหาของกาพย์เห่เรือฉบับนี้มีกี่ตอน แต่ละตอนประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง
     กาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร มี 2 ตอน ดังนี้
    -  ตอนที่ 1 กล่าวชมกระบวนเรือ ชมปลา ชมไม้ ชมนก และบทครวญถึงนางอันเป็นที่รัก 
    -  ตอนที่ 2 ประกอบด้วย บทเห่กากี และบทเห่สังวาส (เนื้อหาที่ตัดมาให้เรียนในแบบเรียนมีเฉพาะตอนแรก)  
8. กาพย์เห่เรือ เป็นวรรณคดีร้อยกรองประเภทใด  และแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทใดบ้าง
     กาพย์เห่เรือ เป็นวรรณคดีประเภทกาพย์เห่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท โคลงสี่สุภาพ กับ กาพย์ยานี 11 เนื้อหาแต่ละตอนจะขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บท ตามด้วยกาพย์ยานี 11 ไม่จำกัดจำนวน  โดยกาพย์ยานีบทแรกจะมีเนื้อความตรงกับเนื้อความในโคลงสี่สุภาพ 
9. ลำนำการเห่เรือ มี 3 อย่าง คือ
                1. สวะเห่ ใช้เห่เมื่อเรือเข้าเทียบท่าเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง
                2. ช้าสวะเห่ เป็นเห่ช้า ใช้พลพายในท่านกบิน

                3. มูลเห่ เป็นเห่เร็ว ใช้เห่ต่อจากช้าสวะเห่ ใช้พายเมื่อเรือทวนกระแสน้ำ การเห่โคลงนำกาพย์เรียกว่า “เกริ่นโคลง”


***มาฟังบทวิเคราะห์เรื่อง กาพย์เห่เรือ ได้เลยครับ***





 

การเปลี่ยนแปลงในภาษาไทย "เพราะภาษาไทยยังไม่ตาย จึงไม่วายต้องเปลี่ยนแปลง"

"เพราะภาษาไทยยังไม่ตาย จึงไม่วายต้องเปลี่ยนแปลง"

          ภาษาทุกภาษาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของ ภาษาจะค่อยเป็นค่อยไปจนเราเกือบสังเกตไม่เห็นในช่วงเวลาส้ันๆ แต่หากเปรียบเทียบช่วงเวลาที่ห่างกันก็จะ เห็นความเปลี่ยนแปลง         
          ภาษาใดไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะตายไปในที่สุดเช่น ภาษาสันสกฤต และภาษาละติน การเปลี่ยนแปลงของภาษามีอยู่สองลกัษณะ คือเลิกใช้ กับ สร้างขึ้นมาใหม่เพราะความก้าวหน้าทางวิทยากรที่มุษย์สร้างขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เห็นได้ง่ายคือ 
๑) การเปลี่ยนแปลงทางเสียงของคำ การเปลี่ยนเสียงสระ เปลี่ยนจากสระเสียงส้ันเป็น สระยาวเช่น 
        ก. การกลมกลืนเสียง เช่น อย่างนี้ - ยังงี้ อย่างไร - ยังไง 
        ข. การกร่อนเสียง เช่น ฉันนั้น - ฉะนั้น หมากพร้าว - มะพร้าว 
        ค. การตัดเสียง เช่น อุโบสถ - โบสถ์ ศิลปะ - ศิลป์  
        ง. การกลายเสียง เช่น สะพาน - ตะพาน สภาวะ - สภาพ  
        จ. การเพิ่มเสียง เช่น ผักเฉด - ผักกะเฉด ลูกดุม - ลูกกะดุม
        ฉ. การสลับเสียง เช่น ตะกร้า - กะต้า (ในภาษาถิ่นอีสาน) ตะไกร - กะไต (ในภาษาถิ่นอีสาน) 


๒) การเปลี่ยนแปลงทางความหมายของคำ ความหมายของคาํอาจจะกว้างขึ้น แคบลง หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เช่น
        ก. ความหมายแคบเข้า (narrowing of meaning) คำยืมที่นำมาใช้แล้วความหมายแคบหรือจำกัดลงจากความหมายในภาษาเดิม
          เคารพ เดิม      แปลว่า            เคารพ รุ่งเรือง ความหนัก
                    ปัจจุบัน แปลว่า            เคารพ
          ชรา    เดิม      แปลว่า             ความแก่ ความเสื่อม คร่ำคร่า
                   ปัจจุบัน แปลว่า             แก่ทางกาย
          กุศล  เดิม      แปลว่า             คนที่มีคุณธรรม
                   ปัจจุบัน แปลว่า             คุณธรรม


      ข. ความหมายกว้างออก widening of meaning) หมายถึง ความหมายของคำที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย ขยายออกจากความหมายของคำในภาษาเดิม ตัวอย่างเช่น

          วิตถาร เดิม      แปลว่า           กว้าง ละเอียด
                    ปัจจุบัน แปลว่า           กว้าง ละเอียด ประหลาด                                                                พิสดาร
         ตีน      เดิม      แปลว่า            อวัยวะที่ไว้ใช้เดิน
                   ปัจจุบัน แปลว่า            ตีนผม ตีนโรง ตีนศาล ตีนบันได
         สวน    เดิม      แปลว่า            ที่เพาะปลูกต้นไม้กั้นไว้เป็น                                                            ขอบเขต

                   ปัจจุบัน แปลว่า             สวนงู สวนสัตว์ สวนนก

       ค. ความหมายย้ายที่  (transference of meaning) หมายถึง  ความหมายของคำในภาษาเดิมสูญหายไป และคำนั้นได้นำมาใช้ในภาษาไทยโดยกำหนดความหมายใหม่ ตัวอย่างเช่น 

           อาวุโส        เดิมใช้เรียก"ผู้มีอายุน้อยกว่า       
                            ปัจจุบันใช้เรียก"ผู้มีอายุมาก 
         "ิสิต           เดิมแปลว่า"ลับ เหลา เสี้ยม"        
                           ไทยใช้หมายถึง"ผู้ที่เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย 
         "สงสาร      เดิมแปลว่าการเวียนว่ายตายเกิด" 
                           ไทยใช้หมายถึงความรู้สึกเป็นห่วงใยเมตตากรุณา"



๓) การเปลี่ยนแปลงรูปประโยค ภาษาไทยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรูปประโยคไปจากเดิมใน หลายลักษณะ เกิดจากการใช้ประโยคหรือกลุ่มคำที่แปลในลักษณะที่เลียนแบบโครงสร้างของภาษาต่างประเทศ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงด้านไวยากรณ์อันเนื่องมาจากการเลียนแบบระบบประโยคภาษาต่างประเทศ
          ตัวอย่างประโยคที่ได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างไวยากรณ์ของภาษาต่างประเทศ เช่น
                    ๑.  เขาถูกเชิญไปรับประทานอาหาร (ผิด)
                         เขาได้รับเชิญไปรับประทานอาหาร (ถูก)
                    ๒. เขาได้รับการลงโทษอย่างหนัก (ผิด)
                        เขาถูกลงโทษอย่างหนัก (ถูก)
                    ๓. เขาจับรถไฟไปเชียงใหม่ (ผิด)
                        เขาโดยสารรถไฟไปเชียงใหม่ (ถูก)
                        เขาไปเชียงใหม่ทางรถไฟ  (ถูก)
                    ๔. กำหนดนัดตรงกับ ๒๐ นาฬิกา แต่เขามาสายไป ๑๕ นาที (ผิด)
                        กำหนดนัดตรงกับ ๒๐ นาฬิกา แต่เขามาช้าไป ๑๕ นาที (ถูก)
                    ๕. เธอพบตัวเองอยู่ในห้องคนเดียว  (ผิด)
                        เธอรู้สึกตัวว่าอยู่ในห้องคนเดียว  (ถูก)
                   
รายการอ้างอิง
ปราณี  กุลละวณิชย์.  ๒๕๔๕.  กลไกที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลง.  การเปลี่ยนแปลงของภาษา ใน     เอกสารการสอนชุดวิชา  ภาษาไทย ๓ หน่วยที่ ๗-๑๕.  พิมพ์ครั้งที่  ๑๐.  นนทบุรี:          มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.
ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๖.  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.
ศุภรางศุ์  อินทรา.  2548.  การเปลี่ยนแปลงความหมาย [Online]. แหล่งที่มา: http://www.huso.           buu.ac.th/thai/web/personal/subhrang/208322/208322chap7.htm [8 กุมภาพันธ์ 2554]

เฉลิมลาภ ทองอาจเอกสารความรู้เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของภาษา 




โวหารการเขียน "อธิบาย-บรรยาย-พรรณนา"

การใช้ภาษาอธิบาย บรรยายและพรรณนา


ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นี้ จะเรียนโวหารการเขียน/กลวิธีการใช้ภาษาเพื่อการถ่ายทอดและสื่อสาร 3 ประเด็นคือ อธิบาย บรรยาย และพรรณนา ซึ่งครูจะขออธิบายแบบสรุปสั้น และง่ายต่อการจำไปใช้ในห้องสอบ ดังนี้

     1. การบรรยาย คือ การเล่าเรื่อง การกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน โดยชี้ให้เห็นฉาก สถานที่ เวลาเหตุการณ์สาเหตุที่ก่อให้เกิด สภาพแวดล้อม บุคคลที่เกี่ยวข้องตลอดจนผลที่เกิดจากเหตุการณ์นั้นๆ เนื้อหาในการบรรยายอาจเป็นเรื่องจริง เช่น ประวัติบุคคล เรื่องเล่าจากประสบการณ์หรือเป็นเรื่องสมมุติ เช่น นิทาน นิยาย เรื่องสั้นที่มีการเล่าเรื่อง 
ตัวอย่างการบรรยาย
            ผมเกิดที่บ้านสวน ธนบุรี หน้าบ้านติดคลองวัดดอกไม้ไม่ไกลจากสถานีตำรวจบุปผารามปัจจุบันมากนัก สถานีตำรวจแห่งนี้สร้างมาก่อนผมเกิด แต่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เดิมเป็นเรือนไม้สูง พื้นชั้นล่างลาดซีเมนต์ มีเรือนพักตำรวจเป็นเรือนแถวเก่าๆไม่กี่ห้อง หน้าโรงพักมีถนนผ่านกลาง ฝั่งตรงข้ามคือวัดดอกไม้ ซึ่งเป็นศัพท์ชาวบ้าน ภาษาราชการเรียกว่า วัดบุปผาราม 
                  เด็กบ้านสวน  ของ พ.เนตรรังษี
     
     2. การพรรณนา คือ การให้รายละเอียดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นอาจจะเป็นบุคคล วัตถุ สถานที่หรือเหตุการณ์ช่วงใดช่วงหนึ่ง โดยพรรณนาส่วนประกอบแต่ละส่วนให้แจ่มแจ้งหรือชี้ให้เห็นลักษณะเด่นของสิ่งนั้นๆ
*การบรรยายเน้นการแสดงเหตุการณ์ ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพื่ออะไร และผลที่ตามมาเป็นอย่างไร ส่วนการพรเน้นการแสดงภาพ อารมณ์ ความรู้สึกอย่างละเอียดเพื่อสร้างความประทับใจ

ตัวอย่างการพรรณนา ด้วยวิธีชี้ลักษณะเด่น
               “อ้อมผ่านไม้ใหญ่ขนาดสองโอบ กองธงทั้งสี่พบเห็นพญาลอหมอบซุกอยู่กลางกอหญ้าเหลืองเกรียมหน้าแดงสดใสดังสีน้ำคร่ำ ขนปีกเลื่อมระยับจับแดดเป็นสีเขียวก่ำแกมคราม แล้วทาทับด้วยทองแจ่มจนสว่างไสว ขนหางอ่อนโค้งราวแกล้งดัด เหลือบแรรุ้งร่วง กลมกลืนอ่อนแก่ดูเรียวระหง ขนอกอ่อนนุ่มดูนวลเนียนราวไม่เคยคลุกฝุ่นเผ้าละอองดิน"         หุบเขากินคน ของ มาลา คำจันทร์

ตัวอย่างการพรรณนา โดยการใช้ถ้อยคำ
          " รัศมีมีเพียงเสียงดนตรี         ประทีปทีฆรัสสะจังหวะโยน
 ระเมียนไม้ใบโบกสุโนกเกาะ           สุดเสนาะเสียงนกซึ่งผกโผน
โผต้นนั้นผันตนไปต้นโน้น                จังหวะโจนส่งจับรับกันไป"

ตัวอย่างการพรรณนา โดยการใช้ถ้อยคำ

       สูงระหงทรงเพรียวเรียวรู     งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา        ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย            จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตรีหักงอ                 ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงดังคุงตะเคียว        โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม         มันน่าเชยน่าชมนางเทวี"       
 [บทละคร เรื่องระเด่นลันได  ของพระมหามนตรี(ทรัพย์)]


     3. การอธิบาย คือ การทำให้บุคคลอื่นเข้าใจความจริง ความสัมพันธ์หรือปรากฏการณ์ต่างๆทั้งที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมแยกได้ ประเภท
     3.1 การอธิบายตามลำดับขั้นตอน มักใช้กับการอธิบายกิจกรรม การปฏิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เป็นกระบวนการหรือกรรมวิธี มีขั้นตอนเป็นระยะไป เช่น การผลิตสิ่งของ การออกกำลังกาย การประกอบอาหาร เป็นต้น
     3.2 การใช้ตัวอย่าง ใช้เพื่อช่วยในการอธิบายในสิ่งที่เข้าใจยาก
     3.3 การเปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่างกัน เหมาะกับการอธิบายสิ่งแปลกใหม่หรือสิ่งที่ผู้ฟังไม่คุ้นเคยมาก่อน โดยพยายามหาสิ่งที่ผู้ฟังผู้อ่านคุ้นเคยหรือรู้จักดีอยู่แล้ว นำสิ่งนั้นมาเทียบเคียงและชี้ให้เห็นว่าสิ่งใหม่ที่อธิบายนั้นมีอะไรบ้างที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างไปจากที่คุ้นเคยอยู่
ตัวอย่างการอธิบายด้วยวิธีเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกัน
           รามเกียรติ์   รัชกาลที่ 1    มีความมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์  ซึ่งกระจัดพลัดพรายอยู่นั้น ให้คุมกันเข้าเป็นเรื่องละเอียดลออ ทุกแง่ทุกมุม แม้จะแต่งเป็นกลอนบทละคร  แต่ก็มิได้คำนึงถึงการนำไปแสดงละครเป็นประการสำคัญ
           รามเกียรติ์ รัชกาลที่   มีความมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นบทละครในโดยตรง
                                                                                  รามเกียรติ์ปริทัศน์  ของ ชำนาญ รอดเหตุภัย
     3.4 การชี้สาเหตุหรือผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน
     3.5 การนิยาม คือ การให้คำจำกัดความหรือกำหนดขอบเขต ข้อตกลงในเรื่องความหมายของคำหรือศัพท์เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน
ตัวอย่างการอธิบายด้วยวิธีให้นิยาม
               ที่จริงแล้ว  โขนก็คือละครรำชนิดหนึ่งนั่นเอง (ละครใน) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 อธิบายความหมายไว้ว่า  โขน  คือ ละครชนิดหนึ่งซึ่งผู้เล่นสวมหน้ากากและหัวต่างๆที่เรียกว่า หัวโขน ส่วนละครนั้นนิยามไว้ว่า คือการมหรสพอย่างหนึ่งที่เล่นเป็น                                                                 โขนละครฟ้อนรำ ภาคพิเศษ ของ สุนันทา โสรัจจ์

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
คุณครูศิริพรรณ รักร่วม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พันธกิจของภาษา

พันธกิจของภาษา

พันธกิจ หมายถึง หน้าที่    

(คำที่เกี่ยวข้องคือ พันธ ,พันธ์,พันธะ หมายถึง ผูก,มัด,ข้อผูกมัด,ข้อผูกพัน   และ กิจ หมายถึง งานธุระ )


พันธกิจของภาษา คือ หน้าที่ของภาษา นั่นเอง


มาดูกันว่า พันธกิจของภาษามีอะไรบ้าง

๑. ภาษาช่วยธำรงสังคม สิ่งที่ใช้แสดงกฎเกณฑ์ทางสังคม ก็คือ ภาษาสังคมจะธำรงอยู่ได้ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ มนุษย์มีไมตรีต่อกัน เช่นการทักทายปราศรัย มนุษย์ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และมนุษย์ประพฤตตนให้เหมาะแก่ฐานะของตน เช่น การใช้ภาษาตามฐานะในสังคมและใช้ให้เหมาะสมกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือบทกวีที่ช่วยธำรงสังคม เช่น “อันจระเข้เต่าปลาพึ่งวาริน สกุณบินร่อนเร่พึ่งเวหา ทารกเล็กเด็กน้อยพึ่งมารดา คนเข็ญใจไพร่ฟ้าพึ่งบารมี” 

๒. ภาษาแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคล หมายถึง ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล รวมถึงอุปนิสัย อารมณ์ รสนิยม สติปัญญา ความคิด ทรรศนะ ภาษาของแต่ละคนที่แสดงออกจะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคล เช่น “ฉันเหนื่อยเหลือเกิน ฉันไม่เดินต่อไปอีกแล้ว” (คนพูดยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง), “เหนื่อยได้ยินไหม เหนื่อยจะตายอยู่แล้วยังจะให้เดินอีก”(คนพูดชอบตำหนิผู้อื่น), “เหนื่อยจังเลย หยุดพักก่อนเถอะ”(คนพูดชอบชักชวนหรือเสนอแนะ) 

๓. ภาษาช่วยให้มนุษย์พัฒนา มนุษย์แต่ละคนย่อมมีประสบการณ์และความคิดเห็นต่างกัน เมื่อมีการเผยแพร่และถ่ายทอดกันต่อๆไปโดยอาศัยภาษา ทำให้มีผู้รู้มากขึ้นและความรู้ก็เผยแพร่ขยายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆสังคมมนุษย์จึงพัฒนาต่อเนื่องมาตลอด เช่นภาษาพัฒนาความคิดและถ่ายทอดความคิดมนุษย์ ตัวอย่าง “หญิงไม่อยากมีสามี หาในโลกนี้หาไหน อันพวงบุปผามาลัย เกลียดแมลงภู่ไซร้ฤๅมี ควรจำธรรมดานาไร่ จักไม่รับไถใช่ที่ ฉันใดชาดานารี พึงมีสามีแนบตัว”

๔. ภาษาช่วยกำหนดอนาคต มนุษย์ใช้ภาเพื่อดำเนินมาตรการหรือเตรียมรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นภาษาเพื่อกำหนดอนาคตให้ได้ดังประสงค์นั้น ผู้ใช้ต้องมีความสามารถในการใช้ภาษา อาจใช้ในรูปแบบของการวางแผน การทำสัญญา การพิพากษา การดำเนินมาตรการ การพยากรณ์ เช่น “เย็นนี้คุณพ่อซื้อเค้กหน้าปากซอยมาให้ด้วยนะ” “พรุ่งนี้ต้องซ่อมรถให้เสร็จนะ” “ ...พลาง ธ ให้ตรวจเตรียมพล โดยสถลพยุหบาตร บอกพระราชกำหนด กฎแก่ขุนทัพขุนพล จักยกพหลยาตรา ในเวลาค่ำ... เป็นต้น 

๕. ภาษาช่วยจรรโลงใจ จรรโลงใจ หมายถึง ค้ำจุนจิตใจไว้ให้มั่นคง ใช้ได้กับทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม การจรรโลงใจจึงหมายถึงการค้ำจุนจิตใจให้เบิกบานมั่นคง ไม่ตกไปข้างอำนาจฝ่ายต่ำ เช่น การร้องเพลง การพูดให้ขบขัน หรือต้องการจรรโลงใจจากนิทาน บทกวี สุนทรพจน์ สุภาษิต คำขวัญ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องการการร้อยเรียงทางภาษาทั้งสิ้น นักภาษาศาสตร์มีความเชื่อว่าภาษากำเนิดจากมนุษย์นั่นเอง ภาษามีความสำคัญต่อมนุษย์ ภาษานอกจากมีความสำคัญต่อมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็อาจตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาษาด้วย เพราะว่ามนุษย์มิได้คำนึงว่า ภาษาเป็นเพียงสัญลักษณ์ มนุษย์เชื่อว่ามีคำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา มนุษย์มักชื่นชมหรือรังเกียจสิ่งใดก็ตามที่มีความหมายหรือมีเสียงของคำคล้ายคลึงกับสิ่งที่ตนนิยมหรือรังเกียจ เช่น “มาลัยเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องร้อยด้วยดอกรักและดอกบานไม่รู้โรย” “ฉันตั้งชื่อลูกว่า “จงพิพัฒน์” เพื่อเขาจะได้เจริญก้าวหน้าในชีวิต” “ถึงบ้านงิ้วหวิวจิตให้คิดขาม เห็นแต่หนามเข้าประเดี๋ยวยังเสียวอก” , “ถึงบางระกำโอ้กรรมระยำใจ เคราะห์กระไรถึงมาร้ายไม่วายเลย”




ข้อมูลอ้างอิง


https://sites.google.com/site/khwamruphasathai/home/phanth-kic-khxng-phasa

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ขัตติยพันธกรณี ...ชีวิตนี้เพื่อปวงไทย...


ขัตติยพันธกรณี 
ผู้แต่ง 
      ๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
      ๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ที่มาเเละความสำคัญ
     ขัตติยพันธกรณี (เหตุอันเป็นข้อผูกพันของกษัตริย์) เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นกวีนิพนธ์ที่ผู้ใดได้อ่านจะประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นบทที่มีที่มาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของประเทศของเรา เหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยขัดแย้งกับฝรั่งเศสเรื่องเขตแดนทางด้านเขมร ฝรั่งเศสส่งเรือปืนแล่นผ่านป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ เข้ามาจอดทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ถืออำนาจเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นเหนือแผ่นดินไทย ตรงกันวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันชาติฝรั่งเศสและยื่นคำขาดเรียกร้องดินแดนทั้งหมดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้อำนาจปกครองของไทยเนื่องจากไทยให้คำตอบล่าช้า ทูตปาวีของฝรั่งเศสจึงให้เรือปืนปิดล้อมอ่าวไทย เป็นการประกาศสงครามกับไทย ซึ่งข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส ได้แก่
     ๑. ฝรั่งเศสในฐานะเป็นมหาอำนาจผู้คุ้มครองเวียดนามและกัมพูชา จะต้องได้ดินแดนทั้งหมดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง
     ๒. ไทยจะต้องลงโทษนายทหารทุกคนที่ก่อการรุกรานที่ชายแดน
     ๓. ไทยจะต้องเสียค่าปรับแก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวน ๓ ล้านฟรังค์เหรียญทอง (เท่ากับ ๑,๕๖๐ ,๐๐๐ บาท สมัยนั้น)
ขัติยพันธกรณี หมายความว่า เหตุอันเป็นข้อผูกพันของกษัตริย์

จุดมุ่งหมายของการพระราชนิพนธ์
     เพื่ออำลาเจ้านาย พระบรมวงศ์ เพราะทุกข์โทมนัสเนื่องจากฝรั่งเศษเข้ามาคุกคามอธิปไตย ในประเทศสยามเเละสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ตอบเพื่อทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากพระราชนิพนธ์ของพระองค์
ช่วงเวลาที่เเต่ง
     ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖
ประเภทคำประพันธ์
     ร้อยกรองประเภทโครงสี่สุภาพเเละอินทร์วิเชียรฉันท์
ลักษณะคำประพันธ์
     โคลงสี่สุภาพ จำนวน ๗ บท

       อินทรวิเชียรฉันท์  จำนวน ๒๖ บท
คุณค่าด้านสังคม
     ๑. สะท้อนความคิด ความเชื่อของคนไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี
     
๒.ปลุกจิตสำนึกให้คนในชาติหวงแหนรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ดำรงอยู่สืบไปและตระหนักถึงความเหนื่อยยากของบรรพบุรุษที่ต้องยอมแลกด้วยชีวิตเพื่อรักษาฝืนแผ่นดินนี้ไว้


                เชิญรับชม ...
วีดิทัศน์ประกอบการเรียนรู้เรื่อง ขัตติยพันธกรณี



วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระเสด็จสู่สวรรคาลัย ใช้ให้ถูก

 
 "อิจฉาคนบนฟ้า 
ได้เทวดากลับสวรรค์"




     เวลาค่ำของวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จะเป็นวันที่ถูกจารึกอยู่ในดวงใจของคนไทยนานตราบเท่านาน แต่ทว่าไม่ได้จารึกด้วยความยินดี แต่เป็นวันแห่งความโศกเศร้าเสียใจของคนไทยทั้งประเทศ กับการสูญเสียดวงใจของแผ่นดิน
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวง ของเราชาวไทย ได้สวรรคตลงท่ามกลางความเสียใจ ความทุกข์ ความอาลัยรักของพสกนิกรไทยทั่วทุกพื้นที่
     ประชาชน หน่วยงานต่างๆ จึงเขียนถ้อยความ ออกมาเพื่อแสดงความอาลัยต่อพระองค์ ซึ่งข้อความทั้งหลายเหล่านั้นมีทั้งถูกและผิดสลับกันไป แต่ด้วยเจตนาแห่งการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ความเคารพในพระองค์ท่านจึงไม่มีการออกมาต่อว่ากัน สำหรับในบทความนี้ผู้เขียนมีจุดประสงค์เพื่อเสนอสิ่งที่ถูกต้องเพื่อที่จะใช้ข้อความได้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จึงขออธิบาย ดังนี้

1. คำว่า "ถวายความอาลัย" ไม่มีธรรมเนียมใช้ หากจะจำโดยง่าย คือ ถวาย แปลว่า ให้ หากให้ไปแล้วจะขอคือไม่ได้ ถ้าทุกท่านใช้คำว่า ถวายความอาลัย นั้นแปลว่า ท่านให้ความอาลัยพระองค์ท่าน พ้นจากตอนถวายก็หมดความอาลัยต่อท่านแล้ว คำที่นิยมใช้ คือ "แสดงความอาลัย" ทุกท่านอาจจะไม่นิยมใช้เพราะศัพท์ไม่สวยหรูดูธรรมดา

2. คำว่า "ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป" ที่ถูกต้องจะต้องใช้คำว่า พระบาท เพราะพระบาทเป็นนาทราชาศัพท์สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ หากใช้คำว่า บาท เฉยๆ เท่ากับว่าเราลดพระอิสริยยศของพระองค์ท่าน

3. คำว่า "ส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัย" นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะพระองค์ถึงพร้อมด้วยบุญญาธิการ และบารมี เราประชาชนคนธรรมดามิอาจเอื้อมจะต้องส่งพระองค์ท่าน เพราะพระองค์ท่านสามารถไปสู่สวรรค์ได้ด้วยพระองค์เอง (แต่เข้าใจความรู้สึกคนไทยว่า อยากส่งเสด็จพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย) จึงควรใช้คำว่า "พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย" หรือ "เสด็จสู่สวรรคาลัย" ก็จะทำให้ภาษางามถูกต้องตามหลักเกณฑ์

4. คำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" ทำไมถึงเรียกเช่นนี้
เหตุผลแรกก็คือเป็นการแยกให้แตกต่าง จากพระเจ้าอยู่หัวที่เสวยราชสมบัติในเวลาปัจจุบัน ฉะนั้นถ้าเรียกในหลวง หรือพระเจ้าอยู่หัว เฉยๆ แล้ว ก็หมายถึง พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ข้อนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในหนังสือกรัณยานุสรว่า

“ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า  พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนพระราชบิดาพระเจ้าแผ่นดินในประจุบันนั้น  เรียกว่าพระบรมโกษฐดังเช่นว่ามาแล้วในข้างต้น  เพราะพระบรมโกษฐนี้สวรรคตแล้ว พระราชโอรสได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน "
เหตุผลที่ ๒ ก็มาจากกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ 2467
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้ทรงแต่ตั้งองค์รัชทายาทไว้
เมื่อทรงเสด็จสวรรคต ประธานรัฐสภาจะกราบบังคมทูล อัญเชิญองค์รัชทายาท
คือองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฏราชกุมาร
ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อไป
มีผู้รู้บอกว่า คำว่า " พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ " ใช้จนกระทั่งมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเรียบร้อยแล้ว จึงกลับมาบ่งพระนามพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหรือ ร.9 แทน

5. การออกพระนามพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่
พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ จะเรียกว่า " สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว " จะไม่มีคำว่า " พระบาท " นำหน้า คำสั่งของพระองค์จะไม่เรียก " พระบรมราชโองการ " จะใช้เป็น "พระราชโองการ "แทน และที่สำคัญจะยังไม่มีการใช้ "นพปฎลเศวตฉัตร "( ฉัตร ๙ ชั้น ) จะทรงใช้ได้ เพียง " สัปตปฎลเศวตฉัตร " ( ฉัตร ๗ ชั้น ) จนกว่าจะได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เท่านั้น

                                                          ประจักษ์ น้อยเหนื่อย : เรียบเรียง

ขอบคุณแหล่งที่มา
               ร้อยโท พีรพันธ์ สรรเสริญ
               ราชบัณฑิตยสภา
               ผศ.สนั่น มีขันหมาก
               ผศ. ดร. อาทิตย์ ชีรวณิชย์


วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

ชิ้นงาน บทอาขยาน "ทำนองในหัวใจ ร้องตามใจต้องการ" ม.๖




  ตัวอย่างชิ้นงาน บทอาขยาน "ทำนองในหัวใจ ร้องตามใจต้องการ"


เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖




***เป็นวิดีโอเพื่อการศึกษา ไม่หวังผลทางการค้าแต่อย่างใด***

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559

"ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

               



ประจักษ์ น้อยเหนื่อย : เรียบเรียง



    เป็นระยะเวลา ๒๐๐ กว่าปีที่วรรณคดีเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ โลดแล่นอยู่ในสังคมไทย บทบาทอันเข้มข้นซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความผูกพันระหว่างเพื่อน ก่อนจะพัฒนาไปสู่รักสามเส้าของหนึ่งหญิงสองชาย โศกนาฏกรรมและเรื่องราวโกลาหลที่ใครจะคาดคิด ได้กลายเป็นเสน่ห์ที่มัดใจผู้คนให้หลงใหลอยู่ในความสนุกสนานไม่รู้เบื่อ เหตุที่เป็นเช่นนี้ สามารถสันนิษฐานได้หลายประการด้วยกันไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อที่ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง ดังที่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงจำนวนไม่น้อย ทั้งพระนามของพระมหากษัตริย์สมัยนั้นคือ สมเด็จพระพันวษา ก็ยังตรงกับพระนามของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ที่ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หรือชื่อสถานที่ ถนนหนทางในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่แต่ละแห่งล้วนมีความเชื่อมโยงกับของตัวละครในเรื่องทั้งสิ้น และอีกประการคือ กลวิธีการประพันธ์ที่รังสรรค์ไว้อย่างแยบยล ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน มีกระบวนการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง มีรูปแบบซับซ้อนชวนติดตาม อุดมไปด้วยรสของวรรณคดีที่หลากหลาย ตลอดจนสะท้อนให้เห็นภาพการดำเนินชีวิตของละครได้อย่างชัดเจน วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงเปรียบเสมือนคันฉ่องที่สะท้อนสภาพสังคม เพราะขุนช้างขุนแผนเป็นผลจากการสร้างสรรค์ของกวี เมื่อกวีอยู่ในสังคมใด กวีก็นำเรื่องในสังคมนั้นมาประกอบในการสร้างสรรค์ผลงาน จนอาจกล่าวได้ว่า หากเราอยากทราบว่าคนในสังคมหนึ่งเป็นเช่นไร ก็ให้อ่านวรรณคดีของสังคมนั้น ในวันนี้จึงเชิญชวนคุณผู้อ่านทุกท่านให้ลองมาพิจารณา “ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา ว่ากันว่าเป็นภาพสังคมวัฒนธรรมของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ใช่สภาพสังคมในสมัยอยุธยาตามท้องเรื่องแต่อย่างใด ในช่วงเวลาดังกล่าว “ไสยเวทย์” ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมไทย ดังนั้น เรื่องราวของขุนช้างขุนแผนจึงกำหนดให้ตัวละครต้องเกี่ยวข้องกับความเชื่อและไสยศาสตร์เกือบตลอดทั้งเรื่อง การพิจารณาเรื่อง “ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา จึงน่าจะช่วยให้เรามองเห็นความเชื่อและวิธีแก้ปัญหาของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้โดยอ้อม



   “ไสยศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดศาสตร์หนึ่งสำหรับคนไทย มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ประมาณพ.ศ.๒๑๖๘ ให้จัดตั้งกระทรวงแพทยาคม เพื่อชำระคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคุณไสย เสน่ห์ยาแฝด ฝังรูปด้วยวิทยาคม กฎหมายบัญญัติลงโทษผู้กระทำผิดในการใช้คุณไสยและวิทยาคมทำร้ายผู้อื่นทางอาญา และในหนังสือวรรณกรรมต่าง ๆ มีการกล่าวถึงเรื่องทางไสยศาสตร์อยู่มาก สำหรับไสยศาสตร์ นั้น สามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
      ๑.ไสยขาว : เป็นไสยศาสตร์ที่มิได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น เน้นอิทธิวิธีต่าง ๆ เช่น การดูเมฆเพื่อหาฤกษ์ยาม หรือวิธีที่เรียกว่า สูรย์จันทร์ และสุริยกลา โดยสังเกตจากลมหายใจเข้าออก เป็นต้น ซึ่งไสยขาวนี้เชื่อว่าหากปฏิบัติตามแล้วจะเกิดสิ่งมงคลแก่ตัว
      ๒.ไสยดำ : จัดเป็นเดรัจฉานวิชา เป็นไสยศาสตร์ที่มุ่งทำร้ายผู้อื่น สำหรับ ไสยศาสตร์ประเภทนี้ที่ปรากฏในเรื่อง ได้แก่ การทำเสน่ห์ โดยเฉพาะ “การฝังรูปฝังรอย” เช่น ตอนที่เถรขวาดทำเสน่ห์ให้พลายงามมารักนางสร้อยฟ้า ภรรยาน้อย เป็นต้น สำหรับ“ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา เริ่มตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบตอนซึ่งสามารถแบ่งประเภทของไสยศาสตร์ที่ปรากฏในตอนนี้อย่างคร่าวได้ ๓ ประเภท ได้แก่
      ๒.๑ เวทย์มนตร์คาถา : อธิบายถึงคาถาต่าง ๆ เช่น คาถามหาละลวย คาถาสะกดให้หลับ คาถาเสน่ห์ยาแฝด ในตอน ขุนช้างถวายฎีกาปรากฏการใช้เวทย์มนตร์คาถา ดังนี้
      ๒.๑.๑ คาถาใช้สะกด : ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อผู้อื่นและจะต้องเตรียมพิธีกรรม เนื่องจากเป็นการลักลอบกระทำและเป็นการเผชิญภัย เช่น ตอน พระไวยขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อพานางวันทองมาอยู่ด้วยนั้นก่อนที่พระไวยจะไปยังเรือนขุนช้าง พระไวยได้ทำพิธีเซ่นเหล้าเพื่อเลี้ยงผีพรายให้อิ่มหนำสำราญเพื่อที่จะได้พร้อมทำงาน ดังนี้ “จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว ลงยันต์ราชะเอาปะอก หยิบยกมงคลขึ้นหัว เป่ามนตร์เบื้องบนชอุ่มมัว พรายยั่วยวนใจให้ไคลคลา จับดาบเคยปราบณรงค์รบ เสร็จครบบริกรรมพระคาถา ลงจากเรือนไปมิได้ช้า รีบมาถึงบ้านขุนช้างพลัน ฯ หรือจะเป็นในตอนที่นางวันทองฝันร้าย ขุนแผนจึงต้องช่วยแก้ฝัน และใช้คาถาเพื่อช่วยแก้ฝันก่อนจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา ดังนี้ “ ครานั้นวันทองเจ้าพลายงาม ได้ฟังความคร้ามครั่นหวั่นไหว ขุนแผนเรียกวันทองเข้าห้องใน ไม่ไว้ใจจึงเสกด้วยเวทมนตร์ สีขี้ผึ้งสีปากกินหมากเวท ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน น้ำมันพรายน้ำมันจันทน์สรรเสกปน เคยคุ้มขลังบังตนแต่ไรมา แล้วทำผงอิทธิเจเข้าเจิมพักตร์ คนเห็นคนทักรักทุกหน้า เสกกระแจะจวงจันทน์น้ำมันทา เสร็จแล้วก็พาวันทองไป”
    ๒.๑.๒ คาถาขับไล่ผี (ล้างอาถรรพณ์) : เมื่อไปถึงเรือนขุนช้าง พระไวยจึงใช้คาถาล้างอาถรรพณ์ที่บ้านของขุนช้าง เพราะบ้านคนไทยในสมัยก่อนประตูบ้านจะมีเทวดาและภูตผีพรายคอยปกปักรักษา และยังมีอาถรรพณ์คุ้มครองป้องกันอีก เมื่อพระไวยจะเข้าบ้านขุนช้างจึงต้องร่ายมนตร์ถอนอาถรรพณ์เสียก่อน หากอาถรรพณ์ของขุนช้างไม่เสื่อม เครื่องรางของขลังและเวทย์มนตร์ของพระไวยก็จะเสื่อมคลายความศักดิ์สิทธิ์เมื่อผ่านประตูบ้านของขุนช้างเข้าไป ดังนั้นเมื่อพระไวยมาถึงหน้าบ้านของขุนช้างจึงต้องใช้คาภาล้างอาถรรพณ์ ดังนี้ “จึงร่ายมนตรามหาสะกด เสื่อมหมดอาถรรพ์ที่ฝังอยู่ ภูตพรายนายขุนช้างวางวิ่งพรู คนผู้ในบ้านก็ซานเซอะ ทั้งชายหญิงง่วงงมล้มลงหลับ นอนทับคว่ำหงายก่ายกันเปรอะ จี่ปลาคาไฟมันไหลเลอะ โงกเงอะงุยงมไม่สมประดี”
    ๒.๑.๓ คาถาสะเดาะกลอน : การสะเดาะกลอน หรือสะเดาะโซ่ตรวนให้หลุดจากตัวเพื่อให้พ้นจากพันธนาการก็นับว่าเป็นการกระทำทางไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน ในตอน ขุนช้างถวายฎีกานั้นพบในช่วงหลังจากที่พระไวยใช้คาถาล้างอาถรรพณ์ที่บ้านของขุนช้าง ต่อจากนั้นก็ใช้พรายสะเดาะกลอน ดังนี้
 “ใช้พรายถอดกลอนถอนลิ่ม         รอยทิ่มถอดหลุดไปจากที่
ย่างเท้าก้าวไปในทันที                  มิได้มีใครทักแต่สักคน”
 .......................................................... ..........................................
จุดเทียนสะกดข้าวสารปราย          ภูตพรายกระโดดเรือนสะเทือนผาง
สะเดาะดาลบานเปิดหน้าต่างกาง  ย่างเท้าก้าวขึ้นร้านดอกไม้”

 ๒. ภูติผีปีศาจ : ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นและถูกสะกดด้วยเวทย์มนตร์ เช่น ผี พราย กุมารทอง ในตอน ขุนช้างถวายฎีกาปรากฏภูตผีปีศาจที่โดดเด่นและมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้ช่วยของพระไวยคือ ผีพราย ดังตัวบท
     จึงร่ายมนตรามหาสะกด           เสื่อมหมดอาถรรพ์ที่ฝังอยู่
ภูตพรายนายขุนช้างวางวิ่งพรู       คนผู้ในบ้านก็ซานเซอะ
.......................................................... ..........................................
ใช้พรายถอดกลอนถอนลิ่ม           รอยทิ่มถอดหลุดไปจากที่
ย่างเท้าก้าวไปในทันที                  มิได้มีใครทักแต่สักคน”

๓. เครื่องรางของขลัง : สิ่งที่ตัวละครใช้พกติดตัวเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจว่าเมื่อทำงาน จะสำเร็จและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง เช่น ผ้าซิ่น หรือ ตะกรุด ก็เช่นเดียวกัน เรามักพบหลักฐานเกี่ยวกับการ "ใช้" ตะกรุดและเครื่องราง เช่นเดียวกันกับในตอนขุนช้างถวายฎีกา จากข้อมูลในข้างต้นจึงสรุปได้ว่า ไสยศาสตร์ก็เป็นศาสตร์หนึ่งที่มีความเชื่อเป็นฐานสามารถเป็นที่พึ่งของคนได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นความเกินเลยของจินตนาการมนุษย์ แต่ก็มีเค้ามูลที่มาจากความเป็นจริง ประเพณี และวิถีปฏิบัติของผู้คนในสมัยนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอดระยะเวลา 200 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ขุนช้างขุนแผนจะสามารถหยัดยืนอยู่บนแถวหน้าของวงการวรรณคดีได้อย่างเป็นอมตะ และถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง แม้เวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใดก็ตาม















เอกสารอ้างอิง 
     ชวน เพชรแก้ว. การศึกษาวรรณกรรมไทย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๔.
     ประจักษ์  ประภาพิทยากร. ประเพณีและไสยเวทวิทยาในขุนช้างขุนแผน. องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๒๕.      วิเชียร      เกษประทุม. เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์, ๒๕๑๓.
     อภิรักษ์ ชัยปัญหา. (๒๕๔๘). ความเชื่อและไสยศาสตร์ในขุนช้างขุนแผน.