วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559

"ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

               



ประจักษ์ น้อยเหนื่อย : เรียบเรียง



    เป็นระยะเวลา ๒๐๐ กว่าปีที่วรรณคดีเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ โลดแล่นอยู่ในสังคมไทย บทบาทอันเข้มข้นซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความผูกพันระหว่างเพื่อน ก่อนจะพัฒนาไปสู่รักสามเส้าของหนึ่งหญิงสองชาย โศกนาฏกรรมและเรื่องราวโกลาหลที่ใครจะคาดคิด ได้กลายเป็นเสน่ห์ที่มัดใจผู้คนให้หลงใหลอยู่ในความสนุกสนานไม่รู้เบื่อ เหตุที่เป็นเช่นนี้ สามารถสันนิษฐานได้หลายประการด้วยกันไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อที่ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง ดังที่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงจำนวนไม่น้อย ทั้งพระนามของพระมหากษัตริย์สมัยนั้นคือ สมเด็จพระพันวษา ก็ยังตรงกับพระนามของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ที่ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หรือชื่อสถานที่ ถนนหนทางในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่แต่ละแห่งล้วนมีความเชื่อมโยงกับของตัวละครในเรื่องทั้งสิ้น และอีกประการคือ กลวิธีการประพันธ์ที่รังสรรค์ไว้อย่างแยบยล ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน มีกระบวนการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง มีรูปแบบซับซ้อนชวนติดตาม อุดมไปด้วยรสของวรรณคดีที่หลากหลาย ตลอดจนสะท้อนให้เห็นภาพการดำเนินชีวิตของละครได้อย่างชัดเจน วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงเปรียบเสมือนคันฉ่องที่สะท้อนสภาพสังคม เพราะขุนช้างขุนแผนเป็นผลจากการสร้างสรรค์ของกวี เมื่อกวีอยู่ในสังคมใด กวีก็นำเรื่องในสังคมนั้นมาประกอบในการสร้างสรรค์ผลงาน จนอาจกล่าวได้ว่า หากเราอยากทราบว่าคนในสังคมหนึ่งเป็นเช่นไร ก็ให้อ่านวรรณคดีของสังคมนั้น ในวันนี้จึงเชิญชวนคุณผู้อ่านทุกท่านให้ลองมาพิจารณา “ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา ว่ากันว่าเป็นภาพสังคมวัฒนธรรมของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ใช่สภาพสังคมในสมัยอยุธยาตามท้องเรื่องแต่อย่างใด ในช่วงเวลาดังกล่าว “ไสยเวทย์” ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมไทย ดังนั้น เรื่องราวของขุนช้างขุนแผนจึงกำหนดให้ตัวละครต้องเกี่ยวข้องกับความเชื่อและไสยศาสตร์เกือบตลอดทั้งเรื่อง การพิจารณาเรื่อง “ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา จึงน่าจะช่วยให้เรามองเห็นความเชื่อและวิธีแก้ปัญหาของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้โดยอ้อม



   “ไสยศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดศาสตร์หนึ่งสำหรับคนไทย มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ประมาณพ.ศ.๒๑๖๘ ให้จัดตั้งกระทรวงแพทยาคม เพื่อชำระคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคุณไสย เสน่ห์ยาแฝด ฝังรูปด้วยวิทยาคม กฎหมายบัญญัติลงโทษผู้กระทำผิดในการใช้คุณไสยและวิทยาคมทำร้ายผู้อื่นทางอาญา และในหนังสือวรรณกรรมต่าง ๆ มีการกล่าวถึงเรื่องทางไสยศาสตร์อยู่มาก สำหรับไสยศาสตร์ นั้น สามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
      ๑.ไสยขาว : เป็นไสยศาสตร์ที่มิได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น เน้นอิทธิวิธีต่าง ๆ เช่น การดูเมฆเพื่อหาฤกษ์ยาม หรือวิธีที่เรียกว่า สูรย์จันทร์ และสุริยกลา โดยสังเกตจากลมหายใจเข้าออก เป็นต้น ซึ่งไสยขาวนี้เชื่อว่าหากปฏิบัติตามแล้วจะเกิดสิ่งมงคลแก่ตัว
      ๒.ไสยดำ : จัดเป็นเดรัจฉานวิชา เป็นไสยศาสตร์ที่มุ่งทำร้ายผู้อื่น สำหรับ ไสยศาสตร์ประเภทนี้ที่ปรากฏในเรื่อง ได้แก่ การทำเสน่ห์ โดยเฉพาะ “การฝังรูปฝังรอย” เช่น ตอนที่เถรขวาดทำเสน่ห์ให้พลายงามมารักนางสร้อยฟ้า ภรรยาน้อย เป็นต้น สำหรับ“ไสยเวทย์” ที่ปรากฏในขุนช้าง-ขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา เริ่มตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบตอนซึ่งสามารถแบ่งประเภทของไสยศาสตร์ที่ปรากฏในตอนนี้อย่างคร่าวได้ ๓ ประเภท ได้แก่
      ๒.๑ เวทย์มนตร์คาถา : อธิบายถึงคาถาต่าง ๆ เช่น คาถามหาละลวย คาถาสะกดให้หลับ คาถาเสน่ห์ยาแฝด ในตอน ขุนช้างถวายฎีกาปรากฏการใช้เวทย์มนตร์คาถา ดังนี้
      ๒.๑.๑ คาถาใช้สะกด : ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อผู้อื่นและจะต้องเตรียมพิธีกรรม เนื่องจากเป็นการลักลอบกระทำและเป็นการเผชิญภัย เช่น ตอน พระไวยขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อพานางวันทองมาอยู่ด้วยนั้นก่อนที่พระไวยจะไปยังเรือนขุนช้าง พระไวยได้ทำพิธีเซ่นเหล้าเพื่อเลี้ยงผีพรายให้อิ่มหนำสำราญเพื่อที่จะได้พร้อมทำงาน ดังนี้ “จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว ลงยันต์ราชะเอาปะอก หยิบยกมงคลขึ้นหัว เป่ามนตร์เบื้องบนชอุ่มมัว พรายยั่วยวนใจให้ไคลคลา จับดาบเคยปราบณรงค์รบ เสร็จครบบริกรรมพระคาถา ลงจากเรือนไปมิได้ช้า รีบมาถึงบ้านขุนช้างพลัน ฯ หรือจะเป็นในตอนที่นางวันทองฝันร้าย ขุนแผนจึงต้องช่วยแก้ฝัน และใช้คาถาเพื่อช่วยแก้ฝันก่อนจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา ดังนี้ “ ครานั้นวันทองเจ้าพลายงาม ได้ฟังความคร้ามครั่นหวั่นไหว ขุนแผนเรียกวันทองเข้าห้องใน ไม่ไว้ใจจึงเสกด้วยเวทมนตร์ สีขี้ผึ้งสีปากกินหมากเวท ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน น้ำมันพรายน้ำมันจันทน์สรรเสกปน เคยคุ้มขลังบังตนแต่ไรมา แล้วทำผงอิทธิเจเข้าเจิมพักตร์ คนเห็นคนทักรักทุกหน้า เสกกระแจะจวงจันทน์น้ำมันทา เสร็จแล้วก็พาวันทองไป”
    ๒.๑.๒ คาถาขับไล่ผี (ล้างอาถรรพณ์) : เมื่อไปถึงเรือนขุนช้าง พระไวยจึงใช้คาถาล้างอาถรรพณ์ที่บ้านของขุนช้าง เพราะบ้านคนไทยในสมัยก่อนประตูบ้านจะมีเทวดาและภูตผีพรายคอยปกปักรักษา และยังมีอาถรรพณ์คุ้มครองป้องกันอีก เมื่อพระไวยจะเข้าบ้านขุนช้างจึงต้องร่ายมนตร์ถอนอาถรรพณ์เสียก่อน หากอาถรรพณ์ของขุนช้างไม่เสื่อม เครื่องรางของขลังและเวทย์มนตร์ของพระไวยก็จะเสื่อมคลายความศักดิ์สิทธิ์เมื่อผ่านประตูบ้านของขุนช้างเข้าไป ดังนั้นเมื่อพระไวยมาถึงหน้าบ้านของขุนช้างจึงต้องใช้คาภาล้างอาถรรพณ์ ดังนี้ “จึงร่ายมนตรามหาสะกด เสื่อมหมดอาถรรพ์ที่ฝังอยู่ ภูตพรายนายขุนช้างวางวิ่งพรู คนผู้ในบ้านก็ซานเซอะ ทั้งชายหญิงง่วงงมล้มลงหลับ นอนทับคว่ำหงายก่ายกันเปรอะ จี่ปลาคาไฟมันไหลเลอะ โงกเงอะงุยงมไม่สมประดี”
    ๒.๑.๓ คาถาสะเดาะกลอน : การสะเดาะกลอน หรือสะเดาะโซ่ตรวนให้หลุดจากตัวเพื่อให้พ้นจากพันธนาการก็นับว่าเป็นการกระทำทางไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน ในตอน ขุนช้างถวายฎีกานั้นพบในช่วงหลังจากที่พระไวยใช้คาถาล้างอาถรรพณ์ที่บ้านของขุนช้าง ต่อจากนั้นก็ใช้พรายสะเดาะกลอน ดังนี้
 “ใช้พรายถอดกลอนถอนลิ่ม         รอยทิ่มถอดหลุดไปจากที่
ย่างเท้าก้าวไปในทันที                  มิได้มีใครทักแต่สักคน”
 .......................................................... ..........................................
จุดเทียนสะกดข้าวสารปราย          ภูตพรายกระโดดเรือนสะเทือนผาง
สะเดาะดาลบานเปิดหน้าต่างกาง  ย่างเท้าก้าวขึ้นร้านดอกไม้”

 ๒. ภูติผีปีศาจ : ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นและถูกสะกดด้วยเวทย์มนตร์ เช่น ผี พราย กุมารทอง ในตอน ขุนช้างถวายฎีกาปรากฏภูตผีปีศาจที่โดดเด่นและมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้ช่วยของพระไวยคือ ผีพราย ดังตัวบท
     จึงร่ายมนตรามหาสะกด           เสื่อมหมดอาถรรพ์ที่ฝังอยู่
ภูตพรายนายขุนช้างวางวิ่งพรู       คนผู้ในบ้านก็ซานเซอะ
.......................................................... ..........................................
ใช้พรายถอดกลอนถอนลิ่ม           รอยทิ่มถอดหลุดไปจากที่
ย่างเท้าก้าวไปในทันที                  มิได้มีใครทักแต่สักคน”

๓. เครื่องรางของขลัง : สิ่งที่ตัวละครใช้พกติดตัวเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจว่าเมื่อทำงาน จะสำเร็จและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง เช่น ผ้าซิ่น หรือ ตะกรุด ก็เช่นเดียวกัน เรามักพบหลักฐานเกี่ยวกับการ "ใช้" ตะกรุดและเครื่องราง เช่นเดียวกันกับในตอนขุนช้างถวายฎีกา จากข้อมูลในข้างต้นจึงสรุปได้ว่า ไสยศาสตร์ก็เป็นศาสตร์หนึ่งที่มีความเชื่อเป็นฐานสามารถเป็นที่พึ่งของคนได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นความเกินเลยของจินตนาการมนุษย์ แต่ก็มีเค้ามูลที่มาจากความเป็นจริง ประเพณี และวิถีปฏิบัติของผู้คนในสมัยนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอดระยะเวลา 200 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ขุนช้างขุนแผนจะสามารถหยัดยืนอยู่บนแถวหน้าของวงการวรรณคดีได้อย่างเป็นอมตะ และถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง แม้เวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใดก็ตาม















เอกสารอ้างอิง 
     ชวน เพชรแก้ว. การศึกษาวรรณกรรมไทย กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๔.
     ประจักษ์  ประภาพิทยากร. ประเพณีและไสยเวทวิทยาในขุนช้างขุนแผน. องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๒๕.      วิเชียร      เกษประทุม. เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์, ๒๕๑๓.
     อภิรักษ์ ชัยปัญหา. (๒๕๔๘). ความเชื่อและไสยศาสตร์ในขุนช้างขุนแผน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น